วิธีการดูแลรถที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน ทิ้งไว้นานๆ
ซื้อรถมาไม่ค่อยได้ขับ ไม่ค่อยได้ใช้งาน ไม่ได้หมายความว่ารถของคุณจะยังสภาพดีกว่ารถที่ผ่านการใช้งานทุกวันนะครับ เพราะการจอดอยู่เฉยๆ นั่น ก็เหมือนกับการรอเวลาให้สภาพเครื่องยนต์มันเสื่อมและชำรุดไปตามกาลเวลานั่นเอง วันนี้มีวิธีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการดูแลรถที่ไม่ค่อยใช้งานมาฝากค่ะ
เริ่มแรกเลยสิ่งที่เราจะต้องดูจะมีอยู่ 6 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องของแบตเตอรี่ เรื่องของพวกผลิตภัณฑ์ของเหลวต่างๆ ในรถยนต์ เรื่องของลมยาง เรื่องของระบบต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ เรื่องของสีรถและสถานที่ในการจอดรถ
1. แบตเตอรี่
หลายคนเจอปัญหารถไม่ค่อยได้ใช้ พอจะกลับมาใช้งานทำไมแบตเตอรี่หมด แบตเสื่อม ไม่มีประจุ ต้องขอบอกตรงนี้ก่อนว่าถึงแม้ว่าจะไม่มีการเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ก็ตาม แต่ในความจริงแบตเตอรี่ก็ยังคงมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงระบบในรถยนต์อยู่ เช่น ระบบกันขโมย หรือ ระบบควบคุม (ECU) หากจอดไว้โดยไม่มีการติดเครื่องยนต์เป็นระยะเวลานานก็ทำให้แบตเตอรี่หมดประจุได้ เมื่อแบตเตอรี่หมดประจุก็ต้องมีการพ่วงเพื่อสตาร์ท ซึ่งถ้าปล่อยให้แบตหมดแล้วพ่วงอยู่บ่อยๆ ก็จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมได้ค่ะ
ข้อแนะนำที่เป็นหลักสากลก็คือหากไม่ค่อยได้ใช้รถยนต์ก็แนะนำให้มีการสตาร์ทเครื่องยนต์ไว้ 10 นาที หรือมากว่า อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือหากทำได้ทุกวันก็จะดี เป็นการช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ได้ครับ (สตาร์ทอยู่กับที่เฉยๆ นะค่ะ)
2. ของเหลวในรถยนต์
หากรถไม่ค่อยได้ใช้เมื่อกลับมาใช้งานก่อนจะออกจากบ้าน แนะนำให้ทำการเช็คของเหลวต่างๆ ในรถของเราก่อนครับว่าพร้อมใช้งานมากน้อยขนาดไหน เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำในหม้อน้ำ เพื่อหล่อเลี้ยงชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ให้เกิดสนิม
เพิ่มเติมสำหรับเรื่องของน้ำมันเครื่องที่หลายๆ คนมักจะสงสัยกันว่าถ้ารถไม่ค่อยได้วิ่งจะต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อไหร่ถึงจะเหมาะสม แนะนำให้เปลี่ยนตามระยะเวลาที่ทางโตโยต้ากำหนดครับ โดยทั่วไปเราจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกันทุก 5,000 กิโลเมตร หรือ 10,000 กิโลเมตร แต่สำหรับคนที่ใช้รถน้อยๆ หากอ้างอิงตามระยะทางในระยะเวลาปีหนึ่งอาจจะไม่ได้ถ่ายน้ำมันเครื่องเลย ดังนั้นต้องอ้างอิงตามระยะเวลา โดยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 6 เดือน หรือตามที่คู่มือกำหนด อย่าคิดว่าไม่ได้ใช้แล้วจะไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพราะน้ำมันเครื่องก็มีวันหมดอายุและเสื่อมสภาพด้วยตัวเองได้เหมือนกัน หากปล่อยไว้นานจนน้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพและนำรถมาใช้งาน เครื่องยนต์จะมีการสึกหรอมากกว่ารถยนต์ที่ใช้งานทุกวันเสียอีก
3. ลมยาง / ยางรถยนต์
หากเราจะต้องจอดรถเอาไว้เป็นระยะเวลานานๆ แนะนำให้เติมลมยางมากกว่าปกติประมาณ 5-10 ปอนด์/ตารางนิ้ว หรือแนะนำให้นำรถไปขับเคลื่อนที่ เพื่อให้ยางได้หมุนบ้าง เพราะการจอดรถอยู่กับที่นานๆ เช่น มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป จะทำให้เกิดอาการยางไม่คืนตัว โดยเกิดการยุบตัวของโครงยางส่วนหน้า ที่สัมผัสกับพื้นได้ เนื่องจากน้ำหนักของตัวรถยนต์ทั้งหมด จะตกสู่ยางแต่ละเส้นในจุดเดียว ทำให้โครงยางเสียรูป ไม่กลม เมื่อนำรถยนต์ไปขับขี่ภายหลัง อาจทำให้เกิดอาการสั่นเต้นและเกิดเสียงดังผิดปกติได้ หากเป็นไปได้วิธีที่ดีที่สุดในกรณีที่ต้องจอดรถทิ้งไว้นานเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไปนั้นขอแนะนำให้ยกรถตั้งบนแท่นวางทั้ง 4 ล้อ ซึ่งทำให้น้ำหนักรถไม่กดทับลงบนยาง เป็นการรักษารูปร่างของยางได้ดีที่สุดค
4. สตาร์ทเครื่องยนต์พารถของเราไปยืดเส้นยืดสายบ้าง
เรื่องของระบบต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ ถือว่าเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามนะครับ ว่าควรสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานและชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่บ้าง แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือควรจะพาไปขับเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง เพราะเนื่องจากในรถยนต์นั้นมีชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เป็นจุดหมุน เช่น ระบบช่วงล่าง ลูกหมากต่างๆ แม้กระทั่งยางและล้อ หากปล่อยให้อยู่กับที่นานๆ ไม่มีการขยับตัวก็อาจเกิดอาการเส้นยึดได้ และอาจทำให้เกิดการสึกหรอได้ง่ายกว่ารถที่ใช้งานประจำ แนะนำให้มีการขับเพื่อยืดเส้นยืดสายช่วงล่างของรถยนต์บ้างเพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน
5. การทำความสะอาดรถ
เพื่อไม่ให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกเกาะอยู่ที่สีรถนานเกินไปจนยากที่จะล้างออก ควรมีการทำความสะอาดรถก่อน จึงค่อยคลุมผ้าคลุมรถเพื่อป้องกันฝุ่น และรักษาสีของรถยนต์ให้ดูเหมือนใหม่
6. สถานที่ในการจอดรถ
ควรจอดรถในที่ร่ม หลีกเลี่ยงการจอดรถใต้ต้นไม้และสถานที่เปียกชื้น หรือใกล้ถังขยะ เพราะอาจมีโอกาสที่หนูเข้ามาอาศัยหรือทำรังใต้กระโปรงรถได้ หากจอดรถใต้ต้นไม้จะต้องระวังให้มาก เนื่องจากต้นไม้จะมียางของต้นไม้ที่จะหล่นลงมา ทำให้สีรถของเราด่างได้ รวมถึงกิ่งไม้ที่ตกลงมาตามแรงลม หรืออื่นๆ ซึ่งอาจทำให้รถของเราเกิดรอยขีดข่วนได้
Cr. kmotors